วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

คีตกวีไทย

           
        คีตกวี ในภาษาไทยนี้นิยมใช้เรียกผู้ประพันธ์ดนตรีในแนวดนตรีคลาสสิกของตะวันตก โดยแปลมาจากคำว่า composer นั่นเอง อย่างไรก็ดี บางท่านอาจใช้คำว่า ดุริยกวี แต่ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน สำหรับผู้ที่แต่งเพลงในแนวดนตรีอื่นๆ มักจะเรียกว่า นักแต่งเพลง หรือ ครูเพลง เท่านั้น
          คีตกวี อาจไม่จำเป็นต้องประพันธ์ดนตรีลงในแผ่นกระดาษเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นผู้บรรเลงบทประพันธ์นั้นเป็นครั้งแรก และในภายหลังมีผู้อื่นนำไปใช้บรรเลงตามก็ได้ชื่อว่า คีตกวี เช่นกัน โดยทั่วไปเราจะรู้จักคีตกวีในฐานะที่เป็นนักดนตรีแม้ว่าหลายท่านจะมีผลงานการประพันธ์ดนตรีมากกว่าผลงานการบรรเลงก็ตาม

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
         เป็นบุตรครูสิน ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระประดิษฐ์ไพเราะ เป็นคนจังหวัด สมุทรสงคราม มีฝีมือในการตีระนาดที่หาตัวจับยาก จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง ครั้นได้ตีระนาดถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์ ก็ได้รับรางวัลมากมาย และได้ประทานตำแหน่งเป็น "จางวางมหาดเล็กในพระองค์" คนทั่วไปจึงเรียกว่า "จางวางศร"
         นอกจากระนาดแล้ว ท่านยังสามารถบรรเลงปี่ได้ดี และสามารถคิดหาวิธีเป่าปี่ให้ เสียงสูงขึ้นกว่าเดิมได้อีก 2 เสียง
         ในด้านการแต่งเพลง ท่านสามารถแต่งเพลงได้เร็ว และมีลูกเล่นแพรวพราว แม้ในการประกวดการประดิษฐ์ทางรับ คือการนำเพลงที่ไม่เคยรู้จักมาร้องให้ ปี่พาทย์รับ ท่านก็สามารถนำวงรอดได้ทุกครา
         ผลงานเด่นๆ ของท่านมีมากมาย ได้แก่
         - ประดิษฐ์วิธีบรรเลงดนตรี "ทางกรอ" ขึ้นใหม่ในเพลง"เขมรเรียบพระนครสามชั้น" เป็นผลให้ได้รับพระราชทานเหรียญรุจิทอง ร.5 และ ร.6
         - ต้นตำรับเพลงทางเปลี่ยน คือ เพลงเดียวกันแต่บรรเลงไม่ซ้ำกันในแต่ละเที่ยว
         - พระอาจารย์สอนดนตรีแด่พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนทรงมีพระปรีชาสามารถ พระราชนิพนธ์เพลงได้เอง คือเพลง "คลื่นกระทบฝั่งโหมโรง" "เขมรละออองค์เถา" และ "ราตรีประดับดาวเถา"
         - คิดโน๊ตตัวเลขสำหรับเครื่องดนตรีไทยซึ่งได้ใช้มาจนทุกวันนี้
         - นำเครื่องดนตรีชวาคือ "อังกะลุง" เข้ามาและได้แก้ไขจนเป็นแบบไทย
         - สอนดนตรีไทยในพระราชสำนักเมืองกัมพูชา และได้นำเพลงเขมรมาทำเป็น เพลงไทยหลายเพลง
         - ตันตำรับการแต่งเพลงและบรรเลงเพลง 4 ชั้น
         ท่านเป็นคีตกวีในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งนับว่าเป็นดวงประทีปทาง ดนตรีไทย ที่ใหญ่ที่สุดในยุคที่ดนตรีไทยเฟื่องฟูที่สุดด้วย


พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
             "ครูแปลก" เกิดที่หลังวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ เป็นศิษย์คนหนึ่งของครูช้อย สุนทรวาทิน ท่านเคยได้บรรเลงเดี่ยวขลุ่ยถวายต่อหน้า สมเด็จพระนางเจ้าวิคทอเรียที่พิพิธภัณฑ์เมืองริมบลีย์ จนถึงกับถูกขอให้ไปเป่าถวายในพระราชวังบัคกิงแฮมต่อด้วย
         
ครูแปลกเป็นคนติดเหล้าอย่างหนัก แต่ไม่เคยเมาต่อหน้าศิษย์ ได้เป็นครูสอนวงเครื่องสายหญิงของเจ้าดารารัศมี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งแรกเป็นขุนประสานดุริยศัพท์ จนได้เป็นพระยาประสานดุริยศัพท์ใน พ.ศ. 2458 ท่านเคยเป่าปี่เพลงทยอยเดี่ยวในพระประดิษฐ์ไพเราะฟัง ถึงกับได้รับคำชมว่า "เก่งไม่มีใครสู้"
         นอกจากท่านจะเชี่ยวชาญปี่และขลุ่ยแล้ว ยังเก่งพวกเครื่องหนังด้วย ขนาดสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานณุพัธุวงศ์วรเดชตรัสชมว่า "ไม่ใช่คนนี่.. ไอ้นี่มันเป็นเทวดา" ท่านเป็นอาจารย์ของศิษย์ชั้นครูมากมาย เช่นพระเพลงไพเราะ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ พระยาภูมิเสวิน อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นต้น
         
ผลงานเพลงที่สำคัญได้แก่ เพลงเขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีสามชั้น ธรณีร้องไห้สามชั้น (ธรณีกันแสง) พม่าห้าท่อนสามชั้น วิเวกเวหาสามชั้น แขกเชิญเจ้าสองชั้น


พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)
พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)
         ครูโสม เกิดที่ฝั่งธนบุรี เริ่มเรียนระนาดลิเกจากน้าชาย จากนั้นได้เข้าร่วมเป็นนักดนตรีในกองดนตรีของสมเด็จพระบรม (รัชกาลที่ 6) เป็นคนตีระนาดหน้าฉากเวลาละครเปลี่ยนฉาก มีฝีมือในทางระนาดเป็นเยี่ยม ถึงขนาดเคยตีเอาชนะนายชิน ชาวอัพวา ซึ่งเป็นระนาดมือหนึ่งในสมัยนั้นมาแล้ว
         
นอกจากนั้นยังสามารถตีรับลิเกในเพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนได้ด้วย จนพระยาประสานดุริยศัพท์ชมว่า "โสมแกเก่งมาก ครูเองยังจนเลย"
ครั้งหนึ่งเคยได้ตีระนาดเพลงกราวในถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งทรงพระประชวรให้บรรทม ครั้นตื่นพระบรรทมก็ทรงชมว่า "โสม เจ้ายังตีฝีมือไม่ตกเลย" นับว่าการตีปี่พาทย์ประกอบโขนละครในสมัยนั้น (รัชกาลที่ 5-7) ไม่มีใครสู้ครูโสมได้
         
ท่านได้บรรดาศักดิ์เป็นพระ เมื่อ พ.ศ.2460 และถึงแก่กรรมเพราะซ้อมระนาดหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ และทานอาหารไม่เป็นเวลาจนเป็นโรคกระเพาะ รวมอายุได้ 49 ปี


ที่มา : http://student.nu.ac.th/thaimusicclub/keetak.htm